วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ประโยชน์จากพลู

        เห็นต้นพลูแล้วนึกถึงคุณแม่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะเคี้ยวหมากต้องใช้ใบพลูทาปูนแดง เวลาบ้วนออกมาน้ำจะมีสีแดง พอใบพลูหมดท่านก็จะใช้ให้ไปซื้อที่ตลาดราคากำละ 1 บาท ท่านไปไหนจะมีตะกร้าใส่อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเคี้ยวหมากไปด้วยเสมอ หากวันไหนไม่ได้เคี้ยวจะเกิดอาการหาวและน้ำตาไหล เป็นอาการที่เรียกว่าอยากหมาก ถ้าท่านขาดส่วนประกอบการเคี้ยวหมากอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะพาลโมโหเราที่ไม่ไปซื้อให้ ทำให้เราไม่ชอบคนเคี้ยวหมาก เพราะเวลาเราไปมักจะซื้อผิดระหว่างใบชะพลูกับใบพลู และไม่ได้สนใจที่จะจดจำลักษณะและคุณประโยชน์ที่ได้จากพลูเพราะว่ามันสูญหายพร้อมกับการจากไปของคุณแม่
        จนกระทั่งเราได้อ่านข้อมูลของพลูจากงานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรมฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ระบุว่าพลูเป็นไม้เลื้อย มีข้อและปล้องชัดเจน ที่ข้อมีรากสั้น ๆ ออกรอบข้อ ใบเดี่ยวติดกับลำต้นแบบสลับลักษณะของใบคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลม ผิวใบมัน ดอกออกรวมกันเป็นช่อแน่น ปลูกโดยใช้ลำต้นปักชำ ขึ้นง่าย คนแก่ใช้ทาปูนแดง รับประทานกับหมากซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพลูที่มีใบสีเขียวเข้มมากกว่าพันธุ์ที่มีใบสีออกเหลืองทอง นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในพิธีมงคลเป็นเครื่องเซ่นไหว้ การทำเครื่องบายศรีสู่ขวัญ พลูมีคุณค่าทางโภชนาการ ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ สารที่เรียกว่า ชาวิคอล ยูจีนอลเบต้าซิโตสเตอรอล และซินีออล เป็นต้น พลูเป็นสมุนไพรแก้ลมพิษ รักษาอาการคัน ในใบพลูมีสารยูจีนอลและชาวิคอล มีฤทธิ์เป็นยาชาและช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด จึงมีประโยชน์ในการระงับอาการคันและเจ็บปวดเนื่องจากแมลงกัดต่อย ช่วยฆ่าและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรคและเชื้อหนอง และมีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังและกลาก และพบว่าน้ำมันพลูสามารถฆ่าพยาธิไส้เดือนได้ สารเบต้าสเตอรอล มีฤทธิ์แก้แพ้ แก้อักเสบ นอกจากนี้ พลูยังมีสรรพคุณใช้แก้การอักเสบของเยื่อจมูกและคอ แก้กลาก แก้ฮ่องกงฟุต แก้คัน แก้ลมพิษ ลนไฟนาบท้องเด็ก แก้ปวดท้องและแก้ลูกอัณฑะยาน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น